โรค cvs

Computer Vision Syndrome (หรือ โรค CVS) โรคสายตาของคนทำงานยุคใหม่

โรค cvs

รู้หรือไม่ ? 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน จะมีปัญหาทางตาและการมองเห็น โดยมีชื่อโรคว่า Computer Vision Syndrome (คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม) หรือเรียกสั้น ๆ คือ โรค CVS

วารสารจักษุธรรมศาสตร์ บทความจากอาจารย์นายแพทย์วรนาถ ทัตติยกุล ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า กลุ่มคนที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์สูงถึง 90% จะมีปัญหาทางตาและการมองเห็น และ 22% มีปัญหาด้านกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ เช่นเดียวกันการศึกษาในประเทศไทยพบว่าผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์มีปัญหาของโรคนี้อยู่สูงถึง 88%  

โรค Computer Vision Syndrome (หรือ  โรค CVS)

คือ โรคที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน พฤติกรรมคือการใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 3 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก โดยความรุนแรงของโรคนี้จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการใช้งาน

สาเหตุมาจาก

  1. หน้าจอคอมพิวเตอร์: ใช้ขนาดหน้าจอ ความสว่าง และตำแหน่งการวางหน้าจอไม่เหมาะสม ซึ่งหน้าจอที่เล็กเกินไปจะส่งผลให้ขนาดข้อความเล็กตาม ความสว่างของหน้าจอที่มืดหรือจ้าจนเกินไปก็จะส่งผลการใช้สายตา รวมไปถึงการจัดวางในตำแหน่งที่อาจจะสูง-ต่ำ-ใกล้-ไกล ก็จะส่งผลต่อระดับและมุมมองของสายตาเช่นกัน
  2. ผู้ใช้งาน: การใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่หยุดพัก หรือการใช้แว่นตาที่เหมาะสม เช่น ผู้ใช้งานมีสายตาสั้น แต่ไม่ได้สวมแว่นในขณะที่ใช้งาน
  3. สภาพแวดล้อมการทำงาน: แสงสว่างภายในห้องทำงานอาจจะสว่างหรือมืดจนเกินไป รวมถึงอุปกรณ์โต๊ะและเก้าอี้ที่ถูกเลือกขนาดและรูปแบบให้เกิดความเหมาะสม เข้ากับสรีระ

อาการของโรค

  1. ปวดเมื่อยตา
  2. แสบตา
  3. โฟกัสได้ช้าลง
  4. ปวดกระบอกตา
  5. ตาแห้ง
  6. ตาพร่ามัว
  7. ตาสู้แสงไม่ได้
  8. ปวดศีรษะ

วิธีป้องกันและลดอาการของโรคนี้

  1. หน้าจอคอมพิวเตอร์ 
    • มีการปรับความสว่างหน้าจอให้พอดี เพื่อให้มองเห็นภาพที่คมชัด
    • ระยะห่างมีความเหมาะสม และวางตรงด้านหน้า โดยไม่เอียง หรือเฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง รวมถึงอยู่ในระดับสายตา ไม่สูงหรือต่ำเกินไป
  2. ผู้ใช้คอมพิวเตอร์
    • หากมีปัญหาด้านสายตา เช่น สายตาสั้น เอียง ให้ใส่แว่นตาที่มีค่าสายตาเหมาะสม
    • ใส่แว่นตาที่ป้องกันรังสียูวี เพื่อลดปริมาณรังสียูวีและแสงสีน้ำเงิน หรือแว่นตาป้องกันแสงสะท้อน เพื่อลดการสะท้อนแสงจากทุกทิศทาง
    • พักสายตาช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นระยะ ละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุก 10-15 นาที เพื่อคลายกล้ามเนื้อลูกตา 
    • ปรับการนั่งให้อยู่ในระดับที่พอดี

ต้องยอมรับว่า แม้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการทำงานให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่บางครั้งก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราเช่นกัน อย่าลืมสังเกตอาการของตัวเอง และดูแลรักษาดวงตา ด้วยการนำวิธีการป้องกันนี้ไปใช้กัน